การจัดการเรียนรู้แบบ CODING โดยใช้กระบวนการ PLC

  • star
  • star
  • star
  • star
  • star
(Reccomment)
image description

Course Description


เอกสารประกอบหลักสูตร / Course Documentation


หลักการและเหตุผล

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และแนวการจัดการศึกษายังให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนทุกคน โดยยึดหลักว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ในการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญ
ทั้งความรู้คู่คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาเน้นเรื่องความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  ทั้งนี้ การจัดกระบวนการเรียนการสอนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้รู้จักคิดเป็นทำเป็น รวมทั้ง ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542) ซึ่งสอดคล้องกับ สภาพการณ์ในปัจจุบันที่นโยบายของรัฐบาลได้กำหนดว่าต้องจัดการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการของสังคม

ดังนั้น การที่จะจัดการศึกษาได้ตามแนวนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวนั้น ครูต้องมีความรู้ ความสามารถอย่างเพียงพอในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาประเทศในยุคประเทศไทย 4.0 ครูจะต้องสามารถสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (Analytic thinking) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  (Critical thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) การคิดผลิตภาพ (Productive thinking) และต้องมีความคิดรับผิดชอบ (Responsibility thinking) ในงานที่ทำในผลงานที่ผลิตขึ้น โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วย

ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) เป็นทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล การให้ผู้เรียน ได้เริ่มเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษานั้น ถือได้ว่าเป็นที่เรื่องดี เพราะช่วยทำให้ผู้เรียนก้าวทันโลก ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) กลายเป็นภาษาที่ 3 เป็นวิชาใหม่ที่ผู้เรียนทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน และเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กคิดทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือ สามารถแตกปัญหาออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขในแต่ละส่วนไปทีละขั้นตอน อีกทั้งในแต่ละขั้นตอนการเขียนโค้ดจะได้เรียนรู้ระบบการวางแผน เมื่อฝึกฝนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดเป็นนโยบาย ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21”

วิชา Coding ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) การเรียนวิชา Coding ผู้เรียนจะได้เรียนทั้งผู้เขียน ผู้พัฒนา พร้อมทั้งได้ฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น เกิดทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และทักษะการเขียนโค้ดอีกด้วย นอกจากนั้น การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม การเขียนโปรแกรม (ภาษาคอมพิวเตอร์) คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่บนโลกยุคดิจิทัล และรองรับความต้องการของผู้คนในยุคดิจิทัล รองรับตลาดแรงงานที่ต้องการอาชีพด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น และรองรับอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่  อีกทั้งประโยชน์ทางอ้อมอื่นอีก คือ “ช่วยฝึกการใช้ชีวิต” อันได้แก่ ฝึกให้เรามีความรู้ด้านเทคโนโลยี และฝึกตรรกะความคิด (หรือ Logic) ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจการทำงานของหน้าเว็บไซต์หรือแอปฯที่เราใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพกว่าเดิม

ดังนั้น การที่จะทำให้การเรียนการสอนวิชา Coding ที่ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้  

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจวิธีการเขียนโปรแกรม (Coding) ที่ถูกต้อง และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมตามแนวทางของหลักสูตรฯ ฉบับปรับปรุง 60

 (2) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ในเรื่องการเขียนโปรแกรม (Coding) และการออกแบบเชิงวิศวกรรมตามเป้าหมายของหลักสูตรฯ ฉบับปรับปรุง 60

 (3) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักและเห็นความสำคัญของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และกระบวนการ ออกแบบเชิงวิศวกรรมที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนางาน

หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับ

  • ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา (สังกัด สทป.).และกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ

คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม

  • ผู้เข้ารับการอบรมต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้ เช่น อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลและโต้ตอบทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

หลักสูตรอบรมต่อเนื่อง

หลักสูตรนี้จะในการดำเนินงาน 3  ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1  ประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการเรียนรู้แบบ Coding โดยใช้กระบวนการ PLC”     
  • ระยะที่ 2  นิเทศติดตาม “การจัดการเรียนรู้แบบ Coding โดยใช้กระบวนการ PLC”
  • ระยะที่ 3 การจัดนิทรรศการ “มหกรรมงาน Coding CMRU PLC” การจัดการเรียนรู้แบบ Coding โดยใช้กระบวนการ PLC

เนื้อหาการอบรม

1.แนวคิดและทฤษฎีของ Coding                 

2.การจัดการเรียนรู้แบบ Coding

3. การจัดสาระการพัฒนาหลักสูตร แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

          1) ด้านความรู้

  • ความเป็นมาและความสำคัญของ Coding
  • องค์ประกอบแนวคิดและทฤษฎีของ Coding
  • การจัดการเรียนรู้แบบ Coding
  • การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง Coding
  • สื่อ และหรือนวัตกรรมการเรียนการสอน Coding

          2) ด้านทักษะ

  • ทักษะการเขียนโค้ด
  • ทักษะการออกแบบสื่อ/นวัตกรรมการเรียนรู้ Coding เช่น เทคนิคการออกแบบ การสร้างสรรค์ชื้นงาน เทคนิคการด้านตัวเลข และเทคนิคทดลองใช้สื่อ/นวัตกรรม เป็นต้น 

          3) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู

  • ความสามารถในการถ่ายทอดผลงานการออกแบบและสร้างสื่อ/นวัตกรรมตามกระบวนการ Coding ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
  • ความสามารถในการนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของผู้เรียน

    4. กระบวนการ PLC

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอน Coding ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและทักษะการสอน Coding ให้แก่ผู้อื่นได้

      3. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้แนวทางกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ Coding จากวิทยากร อย่างน้อย 5 กิจกรรม

รายละเอียดเพิ่มเติม

  • วิทยากร

1) ผศ.ดร.ภานุพัฒน์   ชัยวร   

2) อาจารย์ ดร.ประพิณ  ขอดแก้ว

3) อาจารย์ ดร.อุบล  พวงมาลา

4) อาจารย์จุฑามาศ   สุขแยง

5) อาจารย์อังคณา   ลังกาวงศ์

6) อาจารย์ ดร.รุ่งทิวา  คนการณ์

  • จำนวนชั่วโมงในการฝึกอบรม

 จำนวน 14 ชั่วโมง ช่วงเวลาวันเสาร์-วันอาทิตย์ จำนวน 2 วัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึงเวลา 16.30 น.

loader